ความคิดเห็นของบุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่มีต่อ การดำเนินงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

รัชฎาพร สายสนิท, สุทีป เศวตพรหม

Abstract


การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดเห็นของบุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่มีต่อการดำเนินงานบริการวิชาการ เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของบุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่มีต่อการดำเนินงานบริการวิชาการ จำแนกตามสถานภาพบุคลากร และเพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของบุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่มีต่อการดำเนินงานบริการวิชาการ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้ง 5 วิทยาเขต จำนวน 115 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย 32 คน หัวหน้าโครงการ 45 คน และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานบริการวิชาการ 38 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม และการสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาในการวิเคราะห์ข้อมูล แสดงค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบ t-test การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA)

ผลการวิจัยพบว่าบุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความคิดเห็นต่อการดำเนินงานด้านบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ว่าระเบียบมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ว่าด้วยการให้บริการทางวิชาการพ.ศ.2551 เอื้อต่อการดำเนินงานบริการวิชาการและสามารถสร้างความก้าวหน้าในวิชาชีพได้ แต่การดำเนินงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังขาดสภาพความคล่องตัวในด้านการบริหารจัดการ ทำให้การดำเนินงานไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร

เปรียบเทียบความคิดเห็นของบุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่มีต่อการดำเนินงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำแนกตามสถานภาพบุคลากร พบว่า ด้านระเบียบฯ ว่าด้วยการให้บริการทางวิชาการ พ.ศ. 2551 ทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานบริการวิชาการเห็นด้วยมาก โดยผู้บริหารมหาวิทยาลัยเห็นด้วยมากที่สุด รองลงมา คือ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานบริการวิชาการ และหัวหน้าโครงการ ตามลำดับ และความแตกต่างของระดับความคิดเห็นดังกล่าว มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อเปรียบเทียบรายคู่โดยใช้ LSD พบว่า ผู้บริหาร มหาวิทยาลัยมีความคิดเห็นแตกต่างกับหัวหน้าโครงการ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานบริการวิชาการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ด้านสภาพความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัย และหัวหน้าโครงการ เห็นด้วย ปานกลาง โดยผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะเห็นด้วยมากกว่าหัวหน้าโครงการ และความแตกต่างของระดับความคิดเห็นดังกล่าวมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สรุปก็คือ สถานภาพบุคลากรต่างกันระดับความคิดเห็นที่มีต่อการดำเนินงานด้านบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยมีความแตกต่างกัน ในส่วนของข้อเสนอแนะด้านระเบียบมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่าด้วยการให้บริการทางวิชาการ พ.ศ.2551 บุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เห็นว่ามหาวิทยาลัยควรปรับปรุงระเบียบฯ ใหม่ ให้เอื้อต่อการดำเนินงานบริการวิชาการในแต่ละหน่วยงานของวิทยาเขตต่างๆ ให้มากขึ้น ทั้งในเรื่องการเบิกจ่ายเงินในโครงการต่างๆ ที่มีขั้นตอนมาก ล่าช้า ไม่คล่องตัว การกำหนดค่าธรรมเนียมบริการวิชาการ ร้อยละ 15 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งเป็น ตัวเลขที่สูงเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น และการขออนุมัติโครงการฝึกอบรมในแต่ละครั้งที่มีขั้นตอนทางเอกสารมาก รวมถึงค่าตอบแทนด้านวิทยากรที่อาจจะไม่เหมาะสมกับคุณวุฒิและความชำนาญของวิทยากร ด้านสภาพความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และหัวหน้าโครงการ มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า มหาวิทยาลัยควรจะมีการมอบอำนาจให้คณะ/หน่วยงานได้มีโอกาสบริหารจัดการโครงการบริการวิชาการด้วยตัวเองได้โดยตรง เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นการแบ่งเบาภาระงานของมหาวิทยาลัยได้เท่านั้น แต่จะเป็นการตอบสนองความต้องการทางด้านบริการวิชาการของแต่ละวิทยาเขตได้อย่างครอบคลุมและตรงประเด็นมากที่สุด และจะเป็นการลดขั้นตอนในการบริหารจัดการ ทำให้การดำเนินงานรวดเร็วขึ้น ด้านความก้าวหน้าในวิชาชีพ เห็นว่า มหาวิทยาลัยควรสนับสนุนให้มีการนำผลงานบริการวิชาการไปขอตำแหน่งทางวิชาการได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีแรงจูงใจในการสร้างสรรค์งานได้มากขึ้น

คำสำคัญ: ความคิดเห็น วิทยาเขต หน่วยงาน บุคลากร บริการทางวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Office of Academic Resources, Prince of Songkla University, Pattani Campus