รายงานการวิจัยเรื่องปัจจัยทางการบริหารบางประการที่มีอิทธิพลต่อความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทย

ผู้ช่วยศาสตรา� เพ็งสวัสดิ์

Abstract


การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับปัจจัยทางการบริหาร และความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ และศึกษาอำนาจพยากรณ์ของปัจจัยทางการบริหารที่มีอิทธิพลต่อความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนขนาดเล็ก กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทย จำนวน 269 คน กำหนดขนาดโดยใช้ตารางของ Krejcie and Morgan การได้มาของกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ หาค่าอำนาจจำแนกโดยวิธีสัมประสิทธ์ิสหสัมพันธ์ระหว่างคะแนนรายข้อกับคะแนนรวม และหาค่าความเชื่อมั่นโดยวิธีหาค่าสัมประสิทธ์แอลฟาของครอนบาค ซึ่งด้านความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้มีค่าอำนาจจำแนกระหว่าง 0.661 ถึง 0.847 มีความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.944 ส่วนด้านปัจจัยทางการบริหารมีค่าอำนาจจำแนกระหว่าง 0.351 ถึง 0.852 มีความเชื่อมั่นรายด้านระหว่าง 0.643 ถึง 0.946 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วยค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อย่างง่ายของเพียร์สัน การทดสอบค่าทีชนิดกลุ่มตัวอย่างเดียว และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบเป็นขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่า

1. ปัจจัยทางการบริหารของโรงเรียนขนาดเล็กทั้งภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับสูง โดยรายด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ การจูงใจเพื่อสร้างสรรค์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารหลักสูตรและการสอน ตามลำดับ จากการทดสอบโดยใช้การทดสอบค่าทีชนิดกลุ่มตัวอย่างเดียว เพื่อวางนัยทั่วไป (generalized) ไปยังประชากรในระดับความเชื่อมั่น 95% พบว่าได้ผลเหมือนกับกลุ่มตัวอย่างทุกประการ ความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทยภาพรวมอยู่ในระดับสูง ส่วนรายด้านเกือบทุกด้านอยู่ในระดับสูง ยกเว้นด้านโรงเรียนมีการขยายศักยภาพเพื่อการแก้ปัญหา และมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่องอยู่ในระดับปานกลาง โดยรายด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ โรงเรียนมีบรรยากาศแห่งความเป็นมิตร การยอมรับและไว้วางใจซึ่งกันและกัน โรงเรียนมีความตระหนักในตนเองอยู่เสมอที่จะเสาะแสวงหาความเป็นไปได้และโอกาสใหม่ๆ เพื่อความเติบโตก้าวหน้า และโรงเรียนได้ยึดถือคติที่ว่าความรู้จะมิใช่เพียงสิ่งที่มีไว้เพื่อการถ่ายทอดหรือสะสมเท่านั้น แต่จะเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เกิดขึ้นใหม่ได้จากกระบวนการคิด การมีประสบการณ์และการรับรู้ร่วมกันของคณะครูในโรงเรียน ตามลำดับ จากการทดสอบโดยใช้การทดสอบค่าทีชนิดกลุ่มตัวอย่างเดียว เพื่อวางนัยทั่วไป (generalized) ไปยังประชากรในระดับความเชื่อมั่น 95% พบว่าได้ผลเหมือนกับกลุ่มตัวอย่างทุกประการ

2. ปัจจัยทางการบริหารทุกตัวมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

3. ปัจจัยทางการบริหารด้านความมีประสิทธิผลของโรงเรียน (X1) กลุ่มบริหารตนเองและการติดต่อสื่อสาร (X4) และการจูงใจเพื่อสร้างสรรค์ (X5) สามารถพยากรณ์ความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนการบริหารหลักสูตรและการสอน (X9) สามารถพยากรณ์ความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยปัจจัยทั้ง 4 ตัว สามารถร่วมกันพยากรณ์ความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ได้ร้อยละ 44.80 และมีความคลาดเคลื่อนของการพยากรณ์ + 0.480 

ผลการวิเคราะห์สามารถนำมาสร้างสมการพยากรณ์ความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ในรูปคะแนนดิบได้ คือ Y' = -0.097 + 0.629 X1 + 0.601X4 - 0.489X5 + 0.220X9 และสามารถนำมาสร้างสมการพยากรณ์ความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ในรูปคะแนนมาตรฐานคือ Z'y = 0.487Z1 + 0.527Z4 - 0.509Z5 + 0.174Z9


Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Office of Academic Resources, Prince of Songkla University, Pattani Campus