ศึกษาการละเล่นหนังตะลุงในภาคใต้เพื่อพัฒนาการละเล่นร่วมสมัย

อัศวิน ศิลปะเมธากุล

Abstract


งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินวิจัย 2 ประการคือ เพื่อให้รู้ถึงแนวทางการละเล่นหนังตะลุงภาคใต้ และเพื่อพัฒนาการละเล่นให้เข้ากับยุคสมัย โดยมีประชากรที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย ชาวบ้านที่มีประสบการณ์ในการดูหนังตะลุงจำนวน 84 คน และนายหนังตะลุง จำนวน 6 คน เครื่องมือที่ในการวิจัยประกอบด้วยแบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต บันทึกเทป และถ่ายภาพประกอบ มีการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ตลอดจนวิเคราะห์ด้านเนื้อหาตามลำดับ

ผลจากการวิจัยการละเล่นหนังตะลุงในภาคใต้ พบว่ามีประเด็นที่สำคัญ คือ 1) เรื่องที่นำมาใช้ในการละเล่นนิยมเรื่องราวเกี่ยวกับ วรรณคดีไทยที่มีตัวเอกเป็นเทพหรือกษัตริย์ โดยเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ที่มีตอนการต่อสู้กับยักษ์มาร และการเหาะเหินเดินอากาศ เป็นต้น ส่วนการละเล่นหนังตะลุงในปัจจุบัน นิยมเรื่องราวที่นำมาจากบทละครทางวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งเป็นเรื่องของบุคคลธรรมดาสามัญทั่วไป 2) การสร้างรูปหนังตะลุงในอดีตถึงปัจจุบัน เป็นรูปแบบจินตนาการ จะใช้หนังวัวที่ผ่านการฟอกแล้วตากแห้งนำมาแกะฉลุให้เกิดลวดลาย โดยแบ่งรูปลักษณะเป็น 5 ประเภทด้วยกันคือ รูปก่อนเรื่อง รูปมนุษย์ รูปยักษ์ รูปกาก และรูปเบ็ดเตล็ดทั่วไป 3) องค์ประกอบการละเล่นหนังตะลุง ประกอบด้วยนายหนัง โรงหนังตะลุง จอหนัง หลอดไฟฟ้า เครื่องขยายเสียง และเครื่องดนตรี ได้แก่ ทับ 1 คู่ กลองขนาดเล็ก 1 คู่ โหม่ง 1 คู่ ฉิ่ง 1 คู่ และปี่ 1 เลา และปัจจุบันมีการเพิ่มเครื่องดนตรีสากลเข้ามาอีกด้วย เช่น กลองชุด กลองทัมบ้า ไวโอลิน และกีตาร์ไฟฟ้า

กล่าวโดยสรุปในการวิจัยเรื่องการศึกษาการละเล่นหนังตะลุงในภาคใต้เพื่อพัฒนาการละเล่นร่วมสมัย มีการออกแบบพัฒนาไปใน 3 ลักษณะที่สำคัญคือ 1) เป็นการนำเอาเรื่องราวของบุคคลในท้องถิ่นที่เกิดขึ้นจริงมานำเสนอเป็นบทหนังตะลุง 2) เป็นการพัฒนารูปแบบลักษณะหนังตะลุงที่เหมือนจริง ที่ประยุกต์ใช้กระดาษหนังไก่ และระบายด้ายสีน้ำ 3) องค์ประกอบของการละเล่นหนังตะลุง ได้แก่ โรงหนังตะลุง จอ เครื่องขยายเสียง เครื่องดนตรี และหลอดไฟฟ้า พัฒนามาเป็น ชุดโรงหนังสำเร็จรูปที่ติดตั้งได้ง่าย สะดวกในการพกพา และควบคุม แสง เสียงด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้นายหนังตะลุงที่มีประสบการณ์ ในการละเล่น ในการนี้ผลการวิจัยการพัฒนาการละเล่นร่วมสมัยที่ได้ทำการศึกษาจึงเป็นการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านให้คงอยู่คู่กับคนภาคใต้ และสังคมไทยต่อไป

คำสำคัญ : การพัฒนา การละเล่นหนังตะลุง ร่วมสมัย


Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Office of Academic Resources, Prince of Songkla University, Pattani Campus