การใช้และความต้องการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Abstract
การวิจัย เรื่อง การใช้และความต้องการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาของนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย เพื่อศึกษาการใช้ และความต้องการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาของนักศึกษา เปรียบเทียบความต้องการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาของนักศึกษาในแต่ละชั้นปี แต่ละคณะ/วิทยาลัย และเพศที่ต่างกัน โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี ชั้น ปีที่ 1 2 3 และ 4 ในระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท โดยการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย แบบแบ่งชั้น Stratified random sampling วิเคราะห์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS PC+ for windows หาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย (X) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ทดสอบค่าที-เทส (t-test) ทดสอบค่าเอฟ (F-test) และวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (Oneway Analysis of Variance oneway ANOVA) ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้
1. สภาพการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาของนักศึกษา พบว่า นักศึกษามีการใช้บริการด้านคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา จำนวน 1 - 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ใช้บริการอยู่ที่ช่วงเวลา 16.01 - 22.00 น. จำนวน 1- 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และใช้บริการที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย ในส่วนการใช้คอมพิวเตอร์ ด้านจุดมุ่งหมายการใช้คอมพิวเตอร์ ด้านการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และด้านการใช้คอมพิวเตอร์ผ่านระบบ Internet ในภาพรวมพบว่า อยู่ในระดับใช้ปานกลางทุกด้าน
2. ความต้องการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาของนักศึกษา พบว่า นักศึกษามีความต้องการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา ด้านวัสดุ อุปกรณ์ Software คอมพิวเตอร์ ด้าน Courseware คอมพิวเตอร์ ด้านการให้บริการคอมพิวเตอร์ ด้านการให้ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ และด้านการให้บริการ Internet ในภาพรวมอยู่ในระดับต้องการมากทุกด้าน
3. การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาของนักศึกษาที่มีเพศต่างกัน ในภาพรวมรายด้าน พบว่า มีความเห็นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในด้าน Software คอมพิวเตอร์ ด้าน Courseware คอมพิวเตอร์ ด้านการให้ความรู้คอมพิวเตอร์ และด้านการให้บริการ Internet ของมหาวิทยาลัย ส่วนด้านการให้บริการคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย/คณะ ในภาพรวม นักศึกษามีความเห็นไม่แตกต่างกัน
4. ความต้องการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาของนักศึกษาในแต่ละคณะ/วิทยาลัย พบว่า ในภาพรวมรายด้าน นักศึกษามีความเห็นแตกต่างกันอย่างยิ่ง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ในด้านการให้ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย และแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในด้าน Courseware คอมพิวเตอร์ ส่วนด้านวัสดุ อุปกรณ์ Software คอมพิวเตอร์ และด้านการให้บริการ Internet ของมหาวิทยาลัย นักศึกษามีความเห็นไม่แตกต่างกัน เมื่อวิเคราะห์ความแปรปรวนของนักศึกษา ในภาพรวมพบว่า แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ .05
5. ความต้องการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาของนักศึกษาในแต่ละชั้นปีพบว่า ในภาพรวมรายด้าน นักศึกษามีความเห็นแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในด้านวัสดุ อุปกรณ์ Software คอมพิวเตอร์ ด้าน Courseware คอมพิวเตอร์ และด้านการให้ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ ส่วนด้านที่นักศึกษามีความเห็นไม่แตกต่างกัน ได้แก่ ด้านการให้บริการคอมพิวเตอร์ และด้านการให้บริการ Internet เมื่อวิเคราะห์ความแปรปรวนของนักศึกษา ในภาพรวมพบว่า แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
Full Text:
PDFRefbacks
- There are currently no refbacks.
สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Office of Academic Resources, Prince of Songkla University, Pattani Campus