การประเมินผลระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) จังหวัดนนทบุรี

ชมภูนุช หุ่นนาค

Abstract


การประเมินผลระบบ GFMIS มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อประเมินปัจจัยพื้นฐานด้านสภาวะแวดล้อม, ปัจจัยนำเข้า, กระบวนการ และผลผลิตของระบบ 2) เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน และ3) เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงระบบ โดยใช้แบบจำลอง CIPP Model ของ Stufflebeam ใช้วิธีดำเนินการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยใช้แบบสอบถาม รวมถึงแบบสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่ใช้ระบบ GFMIS โดยตรงในจังหวัดนนทบุรี เจ้าหน้าที่สำนักคลังจังหวัด และเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง

ผลการวิจัยพบว่า จากการประเมินปัจจัยพื้นฐานด้านสภาวะแวดล้อม, ปัจจัยนำเข้า, กระบวนการและผลผลิตของระบบโดยภาพรวม อยู่ในระดับปานกลางทั้งสิ้น และมีปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้แก่ ความไม่พร้อมของหน่วยงานตั้งแต่แรก ซึ่งไม่มีการเปิดโอกาสให้แต่ละหน่วยงานได้ศึกษาสภาพปัญหา ความพร้อม หรือข้อมูลต่างๆก่อนนำระบบมาใช้, เจ้าหน้าที่ที่ใช้ระบบขาดความเชี่ยวชาญ มีการหมุนเวียนปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งมีข้อจำกัดเรื่องความรู้ความสามารถในการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ และงบประมาณที่รัฐจัดสรรไว้เพื่อใช้ดำเนินงานในระบบ GFMIS ไม่ครอบคลุมทุกอย่าง ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับแต่ละหน่วยงาน ส่วนวัสดุอุปกรณ์ก็ขาดประสิทธิภาพ ตัวระบบเองก็มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา รวมถึงขาดการสนับสนุนและการสั่งการที่ดีของผู้บริหาร เป็นต้น

จากผลการประเมินดังกล่าว ทำให้พบแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงระบบ ดังนี้ 1. รัฐควรมีการศึกษาถึงความคุ้มทุน ทั้งการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมไปถึงคาดการณ์ค่าใช้จ่าย และแนวทางการพัฒนาต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าคุ้มค่าหรือไม่ และรัฐมีความพร้อมในการรับมือมากแค่ไหนกับการใช้ระบบต่อไป เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับระบบการเงินการคลังของประเทศสูงสุด 2. รัฐควรมีการกำหนดแผนการฝึกอบรมและการพัฒนาบุคลากรระยะยาวต่อเนื่อง และ 3. ควรมีมาตรการใหม่ๆที่สามารถควบคุม ดูแลการตรวจสอบภายในของหน่วยราชการอย่างจริงจัง และมีระบบระเบียบมากขึ้น เป็นต้น

คำสำคัญ : การประเมินผล, ระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์


Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Office of Academic Resources, Prince of Songkla University, Pattani Campus