ความเครียด การประเมินผลกระทบ และวิธีการเผชิญความเครียดของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน

นัชชา เลื่อยไธสง

Abstract


การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาระดับความเครียดของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน (2) เพื่อศึกษาการประเมินผลกระทบของโรคสะเก็ดเงินต่อตนเองของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินในลักษณะของอันตราย/สูญเสีย การคุกคามต่อชีวิตความเป็นอยู่ หรือท้าทายความสามารถในการเผชิญและแก้ไข (3) เพื่อศึกษาการประเมินผลกระทบของโรคสะเก็ดเงิน ต่อตนเองที่มีต่อระดับความเครียดของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน (4) เพื่อศึกษาการใช้วิธีการเผชิญความเครียดโดยเน้นที่ปัญหาหรือเน้นที่อารมณ์ ของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน (5) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้วิธีการเผชิญความเครียด กับ ระดับความเครียดของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน (6) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการประเมินผลกระทบของโรคสะเก็ดเงินต่อตนเอง กับวิธีการเผชิญความเครียดของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินที่มารับการตรวจรักษาที่หน่วยตรวจโรคผิวหนังของโรงพยาบาลรามาธิบดี ย้อนหลัง 3 ปี คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550-2552 จำนวน 353 ราย ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง เดือน สิงหาคม พ.ศ.2553 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาและสถิติอนุมาน ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่ม การวิเคราะห์ความแปรปรวน และ ไค-สแควร์

ผลการวิจัยพบว่า (1) ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมีความเครียดระดับปานกลาง (2) ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินประเมินผลกระทบของโรคสะเก็ดเงินต่อตนเองที่เกิดจากความเจ็บป่วยในลักษณะของการท้าทายความสามารถในการเผชิญและแก้ไขมากที่สุด รองลงมา คือ คุกคาม และมีการประเมินผลกระทบของโรคสะเก็ดเงินต่อตนเองในลักษณะของอันตราย/สูญเสียน้อยที่สุด (3) ผู้ป่วยที่มีการประเมินผลกระทบของโรคสะเก็ดเงินต่อตนเองแตกต่างกัน มีระดับความเครียดแตกต่างกัน (4) ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินใช้วิธีการเผชิญความเครียดที่เน้นตัวปัญหาและอารมณ์ร่วมกัน แต่ใช้วิธีการเผชิญความเครียดด้านการแก้ปัญหาโดยเน้นที่ตัวปัญหามากกว่าเน้นทางอารมณ์ (5) ผู้ป่วยที่ใช้วิธีการเผชิญความเครียดแตกต่างกันมีระดับความเครียดแตกต่างกัน และ (6) การประเมินผลกระทบของโรคสะเก็ดเงินต่อตนเองมีความสัมพันธ์กับวิธีการเผชิญความเครียด

ผลการวิจัยที่ได้เป็นแนวทางสำหรับ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำกับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน รวมถึงการประเมินความเครียด และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยในการเผชิญความเครียดที่เหมาะสมต่อไป


Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Office of Academic Resources, Prince of Songkla University, Pattani Campus