จิตลักษณะตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง องค์กรแห่งความพอเพียง ความสุขในการทำงาน การสนับสนุนจากองค์การ กับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ กรณีศึกษากรมราชทัณฑ์

ชนะพล ชัยทัพ

Abstract


การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์การวิจัย เพื่อศึกษาปฏิสัมพันธ์ร่วมระหว่างตัวแปรในกลุ่มจิตลักษณะ และตัวแปรในกลุ่มสถานการณ์ในการทำงาน กับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ และเพื่อศึกษาการทำนายของตัวแปรในกลุ่มจิตลักษณะ และตัวแปรในกลุ่มสถานการณ์ในการทำงานกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ ข้าราชการ พนักงานราชการลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราวที่ปฏิบัติงานในเรือนจำ/ทัณฑสถานสังกัดกรมราชทัณฑ์ทั้ง 4 แห่ง ดังนี้ 1) ทัณฑสถานบำบัดพิเศษจังหวัดปทุมธานี 2) ทัณฑสถานหญิงธนบุรี 3) เรือนจำกลางสมุทรปราการ 4) เรือนจำอำเภอธัญบุรี มีจำนวนกลุ่มตัวอย่างรวมกันทั้งหมด 131 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ Three-way ANOVA, Two-way ANOVA และ Multiple Regression Analysis

ผลการวิจัยพบว่า 1) บุคลากรที่มีความมีเหตุมีผลมาก และมีความสุขในการทำงานมาก เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การมากกว่า บุคลากรที่มีความมีเหตุมีผลน้อย และมีความสุขในการทำงานน้อย 2) บุคลากรที่มีความสุขในการทำงานมาก และได้รับการสนับสนุนจากองค์การมากเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การมากกว่า บุคลากรที่มีความสุขในการทำงานน้อย และได้รับการสนับสนุนจากองค์การน้อย 3) ความเป็นองค์กรแห่งความพอเพียง ความมีเหตุมีผล การมีภูมิคุ้มกันตน การรับรู้คุณความดี ความสุขในการทำงาน และการสนับสนุนจากองค์การ สามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การได้ร้อยละ 66.1 โดยมีตัวทำนายที่สำคัญคือ ความสุขในการทำงาน และการมีภูมิคุ้มกันตน สามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การได้ร้อยละ 64.6

คำสำคัญ: จิตลักษณะตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง,องค์กรแห่งความพอเพียง, ความสุขในการทำงาน, การสนับสนุนจากองค์การ, พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ


Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Office of Academic Resources, Prince of Songkla University, Pattani Campus