กระบวนการปฏิสัมพันธ์และการสร้างอัตลักษณ์ร่วมในแฟนเพจเฟซบุ๊ก: ศึกษากรณีแฟนเพจฮิปคิงดอม

ศิขรา ศิริสาร

Abstract


การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตลักษณ์ร่วมของสมาชิกแฟนเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า
ฮิปคิงดอม (www.facebook.com/HIPKINGDOM) ตลอดจนระบบสัญลักษณ์ที่กลุ่มสมาชิกสร้างขึ้น เพื่อใช้ในการปฏิสังสรรค์กัน โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่ การสัมภาษณ์เจาะลึก การสนทนาอย่างไม่เป็นทางการและการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม ทั้งในหน้าแฟนเพจ ในงานกิจกรรรมอย่างเป็นทางการที่ทางแฟนเพจจัดขึ้น ตลอดจนกิจกรรมอย่างไม่เป็นทางการที่สมาชิกในแฟนเพจจัดขึ้นกันเองด้วย

ผลการศึกษาพบว่า การเกิดขึ้นของชุมชนออนไลน์ ‘ฮิปคิงดอม’ นั้น เริ่มต้นจากการพยายามรวมกลุ่มของผู้ที่ชอบทำกิจกรรมและสังสรรค์ในช่วงกลางคืน ของเว็บไซต์ www.hipkingdom.com ซึ่งให้บริการด้านข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมยามคํ่าคืน จากนั้นก็มีการสร้างแฟนเพจเฟซบุ๊กขึ้นมา ทำให้สมาชิกรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นมากขึ้น โดยส่วนมากเป็นกลุ่มคนวัยทำงานที่มีรสนิยมเรื่องการผ่อนคลายจากการทำงานที่คล้ายคลึงกัน ก็คือการสังสรรค์ท่องเที่ยว หรือหากิจกรรมทำในช่วงกลางคืนหลังจากเลิกงานแล้ว ซึ่งสมาชิกส่วนมากไม่รู้จักกันมาก่อน แต่จะเริ่มพูดคุยกันในแฟนเพจฮิปคิงดอมจากนั้นจึงพัฒนาความสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมต่างๆที่แฟนเพจ
จัดขึ้น อัตลักษณ์ที่สมาชิกแฟนเพจฮิปคิงดอมสร้างขึ้น ได้แก่ การใช้สรรพนามบุรุษที่ 3 เพื่ออ้างอิงถึงสมาชิกในกลุ่มฮิปคิงดอม จะมีการลงท้ายชื่อต่อด้วยคำว่า ‘ฮิป’เสมอ นอกจากนี้ก็การสร้างระเบียบวินัยในการไปเที่ยวหรือทำกิจกรรมร่วมกัน ตลอดจนการสร้างตราสัญลักษณ์และจัดทำเสื้อของกลุ่มขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มและเพื่อให้อัตลักษณ์ของกลุ่มเด่นชัด

สรุปได้ว่าปัจจุบันแฟนเพจเฟซบุ๊ก กลายเป็นพื้นที่แห่งใหม่ที่ช่วยให้พบเจอกับผู้ที่มีความชื่นชอบคล้ายคลึงกัน โดยข้อมูลที่ปรากฏในแฟนเพจตลอดจนการปฏิสังสรรค์ที่เกิดระหว่างกันภายในแฟนเพจฮิปคิงดอม เช่น การแสดงความคิดเห็น การกด‘ถูกใจ’(like) การแบ่งปันรูปภาพหรือเรื่องราวต่างๆ ก็ล้วนเป็นสิ่งสะท้อนถึงอัตลักษณ์ร่วมของสมาชิกแฟนเพจฮิปคิงดอม ว่ากลุ่มของตนเองมีเหมือนหรือแตกต่างจากผู้อื่นอย่างไร 

คำสำคัญ: ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม อัตลักษณ์ เครือข่ายสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก แฟนเพจ
พื้นที่สาธารณะ


Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Office of Academic Resources, Prince of Songkla University, Pattani Campus