ความตระหนักของนักท่องเที่ยวที่มีต่อการอนุรักษ์หิ่งห้อย ในแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

อมรศิริ ดวงดี

Abstract


การศึกษาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความตระหนักและศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความตระหนักของนักท่องเที่ยวที่มีต่อการอนุรักษ์หิ่งห้อย รวมทั้งศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความตระหนักที่มีต่อการอนุรักษ์หิ่งห้อย โดยเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ ร่วมกับการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษา คือ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ที่เดินทางมาท่องเที่ยวชมหิ่งห้อยที่ตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน 400 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ค่าสถิติ คือ อัตราส่วนร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าต่ำสุดและค่าสูงสุด การวิเคราะห์การทดสอบความแตกต่างระหว่างกลุ่ม (t – test) และการวิเคราะห์การผันแปรทางเดียว (One – way Analysis of Variance – One way ANOVA)

ผลการศึกษา ปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างมีความตระหนักในการอนุรักษ์หิ่งห้อยในระดับปานกลาง ปัจจัยที่มีผลต่อความตระหนักในการอนุรักษ์หิ่งห้อยของกลุ่มตัวอย่าง ปรากฏว่า การให้คุณค่าเกี่ยวกับการอนุรักษ์หิ่งห้อย และความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์หิ่งห้อย มีผลต่อความตระหนักของนักท่องเที่ยวที่มีต่อการอนุรักษ์หิ่งห้อยในแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 ปัญหา อุปสรรคที่สำคัญ คือ นักท่องเที่ยวมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ส่องแสงไฟแรงสูงขณะชมหิ่งห้อย ถ่ายรูปหิ่งห้อยโดยใช้แฟลช หรือจับหิ่งห้อย ซึ่งนักท่องเที่ยวขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการท่องเที่ยวชมหิ่งห้อย และไม่มีความตระหนักในการอนุรักษ์อย่างแท้จริง

ข้อเสนอแนะจากการศึกษา มีดังนี้ หน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องควรมีการเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งสร้างความตระหนักในคุณค่าของหิ่งห้อยแก่นักท่องเที่ยวให้ได้รับรู้ถึงความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการอนุรักษ์หิ่งห้อย โดยใช้สื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ วารสาร/นิตยสาร แผ่นพับ เอกสารของทางราชการ ผู้ร่วมงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ ญาติพี่น้อง/เพื่อน รวมทั้งอินเตอร์เน็ต / เว็บไซต์ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งฝ่ายภาครัฐ เอกชน ประชาชน ควรมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมีความตระหนักเกี่ยวกับการอนุรักษ์หิ่งห้อยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และต้องดำเนินการทำอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์หิ่งห้อยให้อยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป

คำสำคัญ : ความตระหนัก /การอนุรักษ์หิ่งห้อย/ ตลาดน้ำอัมพวา


Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Office of Academic Resources, Prince of Songkla University, Pattani Campus