ความคิดเห็นของประชาชนท้องถิ่นในการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน กรณีศึกษาตลาดนํ้าอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

สาริณีย์ สุวรรณศีลศักดิ์

Abstract


การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดเห็นของประชาชนท้องถิ่นในการจัดการขยะ
มูลฝอยชุมชน และปัจจัยที่มีต่อความคิดเห็นของประชาชนท้องถิ่นในการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน รวมถึงศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะของประชาชนท้องถิ่นในการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนตลาดน้ำอัมพวา การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ ร่วมกับการวิจัยเชิงคุณภาพ (In-depth Interview) โดยกลุ่มประชากรเป้าหมายในการเก็บข้อมูล ได้แก่ หัวหน้าหรือผู้แทนคครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และมีระยะเวลาอาศัยอยู่ตั้งแต่ 1 ปีขึ้น จำนวน 250 ครัวเรือน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ โดยใช้สถิติอัตราส่วน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบความแตกต่างระหว่างกลุ่มและการวิเคราะห์การผันแปรทางเดียว

ผลการศึกษา พบว่า ประชาชนท้องถิ่นมีความคิดเห็นในการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนระดับ
ปานกลาง โดยปัจจัยที่มีผลต่อความคิดเห็น คือ ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอย ที่ระดับนัยสำคัญ 0.001 เพศ อายุ อาชีพ มีผลต่อความคิดเห็นที่ระดับนัยสำคัญ 0.01 ส่วนจำนวนสมาชิกในครัวเรือน การรับรู้ภาวะสุขภาพของตนเอง มีผลต่อความคิดเห็น ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 สำหรับปัญหาอุปสรรคที่สำคัญ ในส่วนของประชาชน ได้แก่ การขาดความรู้ความเข้าใจในปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการจัดการที่ไม่ถูกวิธี ขาดความรู้เรื่องการจัดการขยะมูลฝอยที่ดี นักท่องเที่ยวมีจำนวนมากในแต่ละสัปดาห์ ตลอดถึงถังขยะและบุคลากร ที่มีไม่เพียงพอ นอกจากนี้พ่อค้า แม่ค้า นักท่องเที่ยวขาดจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่ทิ้งขยะลงในที่ที่จัดเตรียมไว้ และปัญหาในตัวข้อบังคับของเทศบาลที่มีบทลงโทษที่ไม่เข้มงวด ส่วนปัญหาของหน่วยงานภาคราชการ คือ การมีงบประมาณที่จำกัด ทำให้ขาดแคลนบุคคลกรและอุปกรณ์ในการทำงาน สภาพพื้นที่ของตลาดน้ำอัมพวาที่มีน้ำล้อมรอบเป็นอุปสรรคในการเก็บขนขยะ อีกทั้งประชาชนและผู้ประกอบการไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร

ข้อเสนอแนะจากการศึกษามีดังนี้ ควรมีการรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้วยการจัดประชุม อบรม
สัมมนา ทำเสียงตามสาย รอบๆ พื้นที่บริเวณตลาดน้ำ เพื่อชี้แจงสถานการณ์ปัญหาขยะบริเวณตลาดน้ำอัมพวา จัดกิจกรรมให้แก่ประชาชน พ่อค้า-แม่ค้า และเยาวชน ในการรักษาและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกระตุ้นให้ประชาชนร่วมปฏิบัติ ทั้งนี้จะต้องทำสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ทางเทศบาลจะต้องให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง รวมทั้งควรมีบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม


Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Office of Academic Resources, Prince of Songkla University, Pattani Campus