เกษตรพันธะสัญญากับการปรับตัวทางสังคมและเศรษฐกิจของเกษตรกรฯ
Abstract
การศึกษาเรื่อง เกษตรพันธะสัญญากับการปรับตัวทางสังคมและเศรษฐกิจของเกษตรกรและชุมชน: ศึกษากรณีการเลี้ยงไก่เนื้อ ตำบลท้ายตลาด อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้กรอบแนวคิดทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงรูปแบบการเลี้ยงไก่เนื้อแบบพันธะสัญญาของเกษตรกรในชุมชนและเพื่อศึกษาการปรับตัวทางสังคมและเศรษฐกิจของเกษตรกรและชุมชนที่มีต่อระบบการผลิตแบบเกษตรพันธะสัญญา
ผลการศึกษาพบว่ารูปแบบการเลี้ยงไก่เนื้อแบบพันธะสัญญาเป็นรูปแบบการผลิตทางการเกษตรที่มีการจัดการร่วมกันระหว่างบริษัททุนกับเกษตรกร โดยที่บริษัทจะเสนอสินเชื่อในรูปของปัจจัยการผลิต ได้แก่ ลูกไก่ อาหารไก่ ยาและเวชภัณฑ์ การสนับสนุนความรู้ทางด้านเทคนิคในการเลี้ยงไก่ รวมถึงการจัดการด้านการตลาดให้แก่เกษตรกร ส่วนเกษตรกรเป็นผู้รับผิดชอบลงทุนในการสร้างโรงเรือน อุปกรณ์ในการเลี้ยงไก่ ค่าแรงงาน และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการฟาร์ม โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงทำสัญญาระหว่างกันไว้ล่วงหน้าถึงปริมาณและคุณภาพของปัจจัยการผลิตที่จะซื้อจากบริษัทและผลผลิตที่เกษตรกรจะขายให้แก่บริษัท ทั้งนี้ความสัมพันธ์ในรูปแบบพันธะสัญญา เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยบริษัททุนเป็นผู้มีอำนาจเหนือเกษตรกรผ่านการควบคุมปัจจัยการผลิตและการตลาด แต่ถึงแม้ว่าเกษตรกรจะตกอยู่ในโครงสร้างที่เสียเปรียบบริษัททุน ขาดอำนาจต่อรอง แต่เกษตรกรก็ไม่ได้ยอมจำนนต่อปัญหาที่เกิดขึ้น หากพยายามปรับวิถีชีวิต วิถีการผลิต และความสัมพันธ์ทางสังคมเพื่อที่จะอยู่รอดให้ได้ภายใต้การผลิตแบบพันธะสัญญา
คำสำคัญ: เกษตรพันธะสัญญา, เกษตรกรและชุมชน, การเลี้ยงไก่เนื้อ, การปรับตัวทางสังคมและ
เศรษฐกิจ
Full Text:
PDFRefbacks
- There are currently no refbacks.
สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Office of Academic Resources, Prince of Songkla University, Pattani Campus