การมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อนของนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
Abstract
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ความรู้ การรับรู้ข่าวสาร ความคาดหวังผลประโยชน์และการมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อน 2) เปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคลกับการมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อน 3) ความสัมพันธ์ระหว่าง ความรู้ การรับรู้ข่าวสาร ความคาดหวังผลประโยชน์ กับการมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อนของนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ การศึกษาครั้งนี้ศึกษาทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลเชิงปริมาณจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จำนวน 390 คน โดยใช้แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า t-test, F-test และค่าสัมประสิทธ์ิสหสัมพันธ์ (Correlation Coefficient) และเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการสนทนากลุ่ม ( Group Discussion) ตัวแทนนักศึกษาจากชมรมและคณะต่างๆ รวมจำนวน 32 คน
ผลการวิจัยพบว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อนในระดับมาก มีความรู้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนในระดับมาก การรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนในระดับปานกลาง และมีความคาดหวังผลประโยชน์จากการลดภาวะโลกร้อนในระดับมากที่สุด นักศึกษาที่มี เพศ และสถานที่พักอาศัย ต่างกัน มีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อนแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 นักศึกษาที่มีค่าใช้จ่ายต่อเดือน ต่างกัน มีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อนแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 นักศึกษาที่มี อายุ ชั้นปีที่ศึกษาต่างกัน
มีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อนไม่แตกต่างกัน และความรู้ไม่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของนักศึกษาในการลดภาวะโลกร้อน (r = - .013) การรับรู้ข่าวสารมีความสัมพันธ์กันต่ำทางบวกกับการมีส่วนร่วมของนักศึกษาในการลดภาวะโลกร้อน (r = .418) และความคาดหวังผลประโยชน์ มีความสัมพันธ์กันต่ำทางบวกกับการมีส่วนร่วมของนักศึกษาในการลดภาวะโลกร้อน (r = .225)
ข้อเสนอแนะจากการศึกษาคือ มหาวิทยาลัยควรกำหนดนโยบาย เป้าหมาย แนวทางการลดภาวะโลกร้อนที่ชัดเจน สร้างกฎระเบียบ มาตรการหรือแรงจูงใจให้นักศึกษามีส่วนร่วมลดภาวะโลกร้อนใน 5 กิจกรรมหลักได้แก่ 1) ด้านการจราจร เช่น สร้างทางเท้าเดินหลังคาคลุมเพิ่มขึ้นให้เชื่อมต่อระหว่างอาคารต่างๆ มีรถขนส่งมวลชนวิ่งภายในมหาวิทยาลัยให้ครอบคลุมทุกเส้นทาง สนับสนุนการใช้รถจักรยาน และจัดระเบียบการจอดรถ 2) ด้านการอนุรักษ์พลังงาน ควรรณรงค์การเดินขึ้นบันได 1-2 ชั้นแทนการใช้ลิฟท์ ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าหลังใช้งาน ปิด-เปิดแอร์ตามเวลา การปิดไฟในบางเวลาหรือปิดไฟสาธารณะที่ไม่จำเป็น 3) การจัดการขยะ เช่น มหาวิทยาลัยควรสร้างเครือข่ายธนาคารขยะที่มีอยู่ให้ครอบคลุมทั่วทั้งมหาวิทยาลัย มีการรีไชเคิลเศษอาหาร เศษวัชพืช เป็นแก๊สชีวภาพและปุ๋ย อย่างครบวงจร และการบำบัดน้ำเสียควรใช้หลักธรรมชาติเช่นใช้พืชน้ำ 4) การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ควรปลูกไม้ยืนต้นที่มีอายุยืน อนุรักษ์ต้นไม้ที่มีอยู่เดิม เช่น การออกแบบสิ่งก่อสร้าง ควรออกแบบเป็นพิเศษไม่ให้เกิดผลกระทบกับต้นไม้ที่มีอยู่เดิม การจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ทุกๆปีทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย และ 5) ด้านการศึกษา/ วิจัย ทุกหลักสูตรควรสอดแทรกเนื้อหาและ สนับสนุนกิจกรรม งานวิจัยของนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มขึ้น
คำสำคัญ : การมีส่วนร่วม / ลดภาวะโลกร้อน / นักศึกษา / มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Full Text:
PDFRefbacks
- There are currently no refbacks.
สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Office of Academic Resources, Prince of Songkla University, Pattani Campus