รายการวิทยุ: ความพึงพอใจและความต้องการของผู้ฟัง สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปีงบประมาณ 2549

มนตรี มีเนียม, พิเชษฐ เพียรเจริญ

Abstract


การวิจัยเรื่องนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาสภาพการรับฟัง ความพึงพอใจ และความต้องการของผู้ฟังรายการวิทยุของสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงการจัดรายการวิทยุกระจายเสียง และการให้บริการวิชาการแก่ชุมชน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นผู้ฟังรายการสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี F.M. 107.25 MHz จำนวน 402 คน คิดเป็นร้อยละ 98.04 ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์และนำเสนอในรูปแบบของร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. สภาพการรับฟังรายการของผู้ฟังสถานีวิทยุกระจายเสียง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พบว่า ส่วนมากเป็นเพศหญิง ร้อยละ 66.9 มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 54.70 มีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 42.40 อาชีพนักเรียนและนักศึกษา ร้อยละ 58.50 รับฟังสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร้อยละ 76.30 เวลาที่ผู้ฟังชอบเปิดรับฟัง เวลา 21.00-24.00 น. ร้อยละ 47.90 สถานที่ที่ผู้ฟังชอบเปิดรับฟังคือที่บ้าน ร้อยละ 91.50 เหตุผลที่ผู้ฟังชอบเปิดรับฟัง คือเพื่อความบันเทิง ร้อยละ 83.60 นักจัดรายการที่ผู้ฟังชอบฟังมากที่สุดคือ นางสาววิภากร สุวรรณกูล ร้อยละ 32.00

2. ความพึงพอใจของผู้ฟังต่อรายการของสถานีวิทยุกระจายเสียง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พบว่า
2.1 รายการข่าว โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก แต่เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า รายการข่าวต้นชั่วโมง จากกรมประชาสัมพันธ์ อยู่ในระดับมากที่สุด
2.2 รายการวิชาการ 25 นาที โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง แต่เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า รายการสุขภาพดีไม่มีขายและรายการรอบรู้กับ ม.อ. อยู่ในระดับ มากที่สุด
2.3 รายการวิชาการ 3 นาที โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก แต่เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า รายการสุขภาพของเรา อยู่ในระดับมากที่สุด
2.4 รายการบันเทิง โดยภาพรวมอยู่ในระดับ มาก แต่เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า รายการเลิฟเรดิโอ เวลา 16.10-17.00 น. ดำเนินรายการโดย นางสาววิภากร สุวรรณกูล อยู่ในระดับมากที่สุด
3. รายการที่ผู้ฟังต้องการให้เพิ่ม โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก แต่เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า รายการเพลงและเกมให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมอยู่ในระดับมากที่สุด
4. ข้อเสนอแนะ ควรมีรายการที่เพิ่มพูนความรู้ทางด้านภาษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ผลงานการวิจัย การละเล่น ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ข่าวการศึกษา สาระสุขภาพ การพูดคุยกับผู้บริหาร กิจกรรมนักศึกษา สรุปสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้


Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Office of Academic Resources, Prince of Songkla University, Pattani Campus