การประเมินผลโครงการโอนหนี้เข้าระบบ
Abstract
การศึกษาวิจัยเรื่องการประเมินผลโครงการโอนหนี้เข้าระบบเพื่อพบชีวิตใหม่ : กรณีศึกษาศูนย์แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อประเมินผลโครงการในด้านปัจจัยบริบท ปัจจัยนำเข้า ปัจจัยกระบวนการ และผลผลิตในการดำเนินงานตามโครงการโอนหนี้เข้าระบบ เพื่อพบชีวิตใหม่ของอำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี และ2) เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตามโครงการโอนหนี้เข้าระบบ เพื่อพบชีวิตใหม่ ของอำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี มีวิธีการดำเนินการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยใช้แบบสอบถามรวมทั้งแบบสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเชิงปริมาณ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ทีมเจรจาหนี้นอกระบบระดับอำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี จำนวน 77 คน และประชาชนที่มาขึ้นทะเบียนหนี้นอกระบบและเข้าสู่กระบวนการเจรจาหนี้นอกระบบแล้ว จำนวน 299 คน ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่ หัวหน้าทีมเจรจาหนี้นอกระบบจำนวน 3 คน และเจ้าหน้าที่สินเชื่อหนี้นอกระบบ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แห่งละ 1 คน รวมกลุ่มตัวอย่างเชิงคุณภาพ จำนวนทั้งสิ้น 5 คน
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า จากผลการประเมินปัจจัยบริบท ปัจจัยนำเข้า ปัจจัยกระบวนการ และผลผลิตในการดำเนินงานตามโครงการโอนหนี้เข้าระบบ เพื่อพบชีวิตใหม่ของอำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี โดยภาพรวม อยู่ในระดับสูงทุกด้าน และมีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามโครงการโอนหนี้เข้าระบบ เพื่อพบชีวิตใหม่ ของอำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี ได้แก่ เจ้าหน้าที่ใช้เวลามากเกินไปในการคัดเลือกลูกหนี้นอกระบบ ประชาชนที่มาขึ้นทะเบียนหนี้นอกระบบเข้าใจผิดคิดว่ารัฐบาลเป็นคนชำระเงินคืนหนี้นอกระบบแทนตนเอง ขาดบุคคลและขาดหลักทรัพย์เข้ามาค้ำประกันตามที่สถาบันการเงินภาครัฐกำหนด ขาดหลักฐานสัญญาเงินกู้ เนื่องจากบุคคลส่วนใหญ่จะยืมจากญาติพี่น้อง หรือบุคคลที่สนิทสนมกัน จึงไม่ได้ทำสัญญาเงินกู้ไว้ เจ้าหนี้หลายรายไม่ให้ความร่วมมือในการนัดหมายเจรจาหนี้นอกระบบ ลูกหนี้ที่มาขึ้นทะเบียนไม่ยอมมาตามนัดหมายเจรจาหนี้นอกระบบ ทางธนาคารเงื่อนไขมาก ทำให้ประชาชนที่ยากจนขาดโอกาสในการกู้เงิน เป็นต้น
จากผลการประเมินดังกล่าว ทำให้ผู้วิจัยพบข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในครั้งต่อไป ได้แก่ ประชาชนที่ขึ้นทะเบียนควรที่จะศึกษาและทำความเข้าใจในหลักการของโครงการดังกล่าวอย่างถ่องแท้ และคำนึงถึงหลักความเป็นจริงในการดำเนินโครงการว่าการแก้ไขปัญหาต้องเริ่มต้นที่ตนเองก่อน ภาครัฐควรดำเนินการอย่างจริงจังกับแหล่งเงินกู้นอกระบบ โดยเฉพาะแผ่นป้ายโฆษณาตามตู้โทรศัพท์ ราวสะพาน โดยอาจมีการออกกฎหมายหรือข้อบังคับอย่างเข้มงวดต่อเจ้าหนี้นอกระบบ หากยังคงฝ่าฝืนเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการโทรติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์ที่โฆษณาเหล่านั้นเพื่อจับกุมแหล่งเงินกู้นอกระบบต่อไป นอกจากนี้รัฐบาลควรมีนโยบายหรือโครงการเกี่ยวกับการฟื้นฟูหรือส่งเสริมอาชีพภายหลังชำระหนี้นอกระบบ หรือสำหรับประชาชนที่ไม่ผ่านกระบวนการเจรจาหนี้ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้ครอบครัวลูกหนี้นอกระบบต่อไป เป็นต้น
คำสำคัญ : การประเมินผล โครงการโอนหนี้เข้าระบบ เพื่อพบชีวิตใหม่
Full Text:
PDFRefbacks
- There are currently no refbacks.
สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Office of Academic Resources, Prince of Songkla University, Pattani Campus