ครูแกนนำพยาบาล: บทบาทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้แบบ e-learning

โสภาพันธ์ สอาด

Abstract


ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา รูปแบบการเรียนสาขาวิชาทางการแพทย์และพยาบาลในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ได้มีการใช้เทคโนโลยีการเรียนการสอนผ่านเว็บไซด์ พูดคุยผ่าน web ในห้องสนทนา (chat room) ในสถาบันการศึกษาของสหรัฐอเมริกาได้นำระบบการเรียนทางไกลมาใช้ ในโรงเรียนพยาบาลจำนวน 23 แห่ง และประสบความสำเร็จ (Philip Hallinger,2005) สำหรับในประเทศไทย ประสบปัญหาความพร้อมของครูผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญ จึงมีเพียงการนำระบบการเรียนการสอนทางไกลมาใช้การสอนเสริมหรือแก้ไขปัญหาการขาดครูผู้เชี่ยวชาญ เช่นการใช้ระบบ VDO conference e-learning แต่ยังไม่เต็มรูปแบบทุกรายวิชา

ปัจจุบันสถาบันการศึกษาทุกระดับในประเทศไทย ได้มีความตื่นตัวเพื่อให้ทันต่อโลกยุคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีการเชื่อมโยงเครือข่ายอินเทอร์เนต ย่อโลกแห่งการเรียนรู้ให้มาอยู่ใกล้เพียงปลายนิ้วสัมผัส ระบบการศึกษาที่จัดการสอนตั้งแต่อนุบาลจนถึงอุดมศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชนได้พัฒนากลยุทธ์เพื่อสร้างจุดขายหรือดึงดูดความสนใจของผู้เข้ามาเรียน โดยการนำคอมพิวเตอร์ที่เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์สำคัญมาใช้ในสถานศึกษามากขึ้น จึงดูเหมือนเป็นการแข่งขันทางธุรกิจ แต่เป็นผลดีต่อผู้เรียน ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังที่จะเพิ่มศักยภาพระบบการเรียนการสอนให้มีความทันสมัย เป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ.2542 มาตรา18 ที่ได้กำหนดให้สถานศึกษา มีการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีความหลากหลาย เหมาะสมกับธรรมชาติของผู้เรียน มีกิจกรรมการเรียนการสอนที่กระตุ้นผู้เรียนให้รู้จักคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์ และแก้ปัญหา รวมทั้งในหมวด 9 ว่าด้วยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา มาตราที่ 67 กำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาการผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเพื่อให้เกิดการใช้ที่คุ้มค่าและเหมาะสมกับกระบวนการเรียนรู้ของคนไทย (พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542)


Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Office of Academic Resources, Prince of Songkla University, Pattani Campus