การประเมินคุณภาพบริการห้องสมุด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สุทธิลักษณ์ พัดเพ็ง, รัดดา อุ่นจันที

Abstract


การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินคุณภาพบริการของห้องสมุด โดยใช้เครื่องมือ LibQUAL+TM และ 2) เพื่อทราบถึงระดับความคาดหวังที่ผู้ใช้บริการต้องการได้รับจากห้องสมุดคณะเทคนิคการแพทย์ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ สอบถามถึงระดับบริการต่ำสุดที่ยอมรับได้ (Minimum-Acceptable Service level) ระดับบริการที่ต้องการได้รับ (Desire level of service) และระดับบริการที่ได้รับจริงจากห้องสมุด (Perceived level of Service) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ กลุ่มอาจารย์ ข้าราชการ/ลูกจ้าง นักศึกษาระดับปริญญาตรี และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ที่สังกัด
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นในปีการศึกษา 2549 จำนวน 245 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์คือ จำนวน และร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สำหรับการคำนวณขอบเขตของความอดทน ได้ใช้แนวคิดเรื่องขอบเขตความอดทน (The Zone of Tolerance) และแสดงผลด้วยแผนภูมิเรดาร์ (Radar Chart) 

ผลการวิจัยสรุปได้ว่า โดยรวมระดับบริการที่ผู้ตอบแบบสอบถามต้องการได้รับจากห้องสมุด ทุกข้ออยู่สูงกว่าระดับบริการที่ได้รับจริงจากห้องสมุด เมื่อจำแนกตามประเภทของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า มีกลุ่มที่มีระดับบริการที่ได้รับจริงจากห้องสมุดสูงกว่าระดับบริการที่ต้องการได้รับ ดังนี้ กลุ่มอาจารย์มีระดับบริการที่ได้รับจริงจากห้องสมุดสูงกว่าบริการที่ต้องการได้รับ จำนวน 12 ข้อ เช่น เจ้าหน้าที่ให้บริการอย่างรวดเร็วและทันท่วงที (AS -2) เจ้าหน้าที่มีอัธยาศัยดี/มีจิตสำนึกในการให้บริการ (AS -3) มีการทำให้ง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูล เช่น มีแผ่นพับหรือเอกสารแนะนำการใช้และมีป้ายแนะนำบริการต่างๆ (IC -5) สถานที่สะดวกสบายน่าเข้าใช้บริการ (LP - 3) เป็นต้น กลุ่มข้าราชการ/ลูกจ้าง มีระดับบริการที่ได้รับจริงจากห้องสมุดสูงกว่าบริการที่ต้องการได้รับ จำนวน 4 ข้อ คือ เจ้าหน้าที่มีอัธยาศัยดี/มีจิตสำนึกในการให้บริการ (AS -3) เจ้าหน้าที่ใส่ใจถึงความรู้สึกของท่าน (AS -8) เจ้าหน้าที่ทราบถึงความต้องการของท่าน (AS -9) และบรรยากาศสงบทำให้เกิดสมาธิในการเรียนรู้ (LP - 4) กลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ มีระดับบริการที่ได้รับจริงจากห้องสมุดสูงกว่าบริการที่ต้องการได้รับ จำนวน 1 ข้อ คือ สถานที่สะดวกสบายน่าเข้าใช้บริการ (LP-3) 

เมื่อวิเคราะห์ถึงขอบเขตความอดทนโดยรวม พบว่า มีข้อที่อยู่ต่ำกว่าขอบเขตความอดทน จำนวน 1 ข้อ คือ มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย และใช้ค้นข้อมูลที่ต้องการได้ (IC-7) และเมื่อจำแนกตามประเภทของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า อาจารย์ นักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชากายภาพบำบัด และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มีข้อที่อยู่ต่ำกว่าขอบเขตความอดทนจำนวน 1 ข้อ คือ มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย และใช้ค้นข้อมูลที่ต้องการได้ (IC-7) เช่นกัน

สำหรับปัญหาและข้อเสนอแนะที่ผู้ใช้บริการตอบมากที่สุด คือ เครื่องคอมพิวเตอร์มีจำนวนน้อยและไม่ทันสมัย ดาวน์โหลดข้อมูลได้ช้า และทรัพยากรประเภทหนังสือยังมีจำนวนน้อย


Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Office of Academic Resources, Prince of Songkla University, Pattani Campus