ความพึงพอใจของประชาชนต่อการบริการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส: กรณีศึกษาประชาชนในเขตอำเภอยี่งอ

แวหะมะ จินาแว, อริยา คูหา

Abstract


การวิจัยมีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของประชาชนต่อการบริการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส : กรณีศึกษาประชาชนในเขตอำเภอยี่งอ ในบริการทั้ง 8 ด้าน คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านเศรษฐกิจ ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ด้านการศึกษา ด้านสังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการบริหารการจัดการที่ดี ด้านความมั่นคงและเสริมสร้างสันติสุข (2) เพื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจของประชาชนต่อการบริการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส : กรณีศึกษาประชาชนในเขตอำเภอยี่งอ ตามตัวแปรเพศ อายุ รายได้ และระดับการศึกษา (3) เพื่อศึกษาปัญหาและข้อเสนอแนะของประชาชนต่อการบริการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส : กรณีศึกษาประชาชนในเขตอำเภอยี่งอ

กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย เป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 396 คน โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น ( Stratified random sampling) ตามสัดส่วนของจำนวนประชากรกับขนาดกลุ่มตัวอย่างซึ่งสุ่มจากครัวเรือนโดยเป็นหัวหน้าครัวเรือนหรือตัวแทนโดยใช้ตารางเลขสุ่ม (Random number Table) จากประชากรทั้งหมด 38,032 คน โดยใช้แบบสอบถามวัดความพึงพอใจของประชาชนต่อการบริการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่น 0.96 และแบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงการบริการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส

ผลการวิจัยพบว่าความพึงพอใจของประชาชนต่อการบริการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส: กรณีศึกษาประชาชนในเขตอำเภอยี่งอ ทั้ง 8 ด้าน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (X = 3.56) และผลการเปรียบเทียบความแตกต่างของความพึงพอใจของประชาชนต่อการบริการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส ที่มีเพศ อายุ รายได้ และระดับการศึกษาต่างกัน พบว่ากลุ่มอายุต่างกัน มีความพึงพอใจต่อการบริการแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 เมื่อพิจารณารายคู่ โดยใช้การทดสอบของเชฟเฟ่ (Scheffe' Method) พบว่า กลุ่มอายุ 21- 45 ปี มีความพึงพอใจต่อการบริการในด้านการบริหารการจัดการที่ดีสูงกว่า ประชาชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และ อายุ 46 ปีขึ้นไป ตามลำดับ ระดับการศึกษาต่างกันมีความพึงพอใจต่อการบริการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 เช่นกัน เมื่อพิจารณารายคู่ โดยใช้การทดสอบของเชฟเฟ่ (Scheffe' Method) พบว่า กลุ่มประชาชนที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่ามีความพึงพอใจต่อการบริการ ในด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนสูงกว่ากลุ่มประชาชนที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา อนุปริญญา และ ระดับประถมศึกษา ตามลำดับ ส่วนตัวแปรอื่นนั้น มีความพึงพอใจต่อการบริการ ทั้ง 8 ด้านไม่แตกต่างกัน ด้านปัญหาและข้อเสนอแนะ ของประชาชนต่อการบริการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส : กรณีศึกษาประชาชนในเขตอำเภอ ยี่งอ พบว่า มีข้อเสนอแนะว่าควรมีการพัฒนาด้านการคมนาคม ปรับปรุงแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ด้านเศรษฐกิจส่งเสริมให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้และใช้ชีวิตแบบพอเพียง พัฒนาการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตปลูกจิตสำนึกให้พัฒนาและ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและให้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ชีวิตร่วมกันของประชาชนในสังคมพหุวัฒนธรรม

คำสำคัญ : ความพึงพอใจของประชาชน, องค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส


Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Office of Academic Resources, Prince of Songkla University, Pattani Campus