กระบวนการนำเสนออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ยวนในบริบทของการท่องเที่ยว ผ่านหอวัฒนธรรมพื้นบ้านและตลาดท่าน้ำ: ศึกษากรณีชุมชนยวน ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

ดวงกมล เวชวงค์

Abstract


การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยผู้วิจัยได้มุ่งเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง การวิจัยภาคสนามโดยการสังเกตการณ์ทั้งแบบมีส่วนร่วม และไม่มีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปของชุมชนยวนทั้งในด้านภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศึกษาสำนึกทางชาติพันธ์ุของชาวยวนบ้านต้นตาล และศึกษากระบวนการนำเสนออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวยวนในบริบทของการท่องเที่ยวผ่านหอวัฒนธรรมพื้นบ้านและตลาดท่าน้ำ โดยได้ใช้กรอบแนวคิดทฤษฎีความเป็นกลุ่มชาติพันธ์ุ แนวคิดอัตลักษณ์ แนวคิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และแนวคิดการท่องเที่ยว มาเป็นแนวทางในการศึกษาและวิเคราะห์

ผลการวิจัยพบว่า ตำบลต้นตาลประกอบไปด้วยกลุ่มคนในชาติพันธ์ุยวนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพวกเขายังคงมีสำนึกในความเป็นชาติพันธ์ุยวนอยู่อย่างชัดเจน แม้จะอพยพจากถิ่นฐานเดิมคือเมืองเชียงแสนมาอยู่ในสภาพแวดล้อมและสังคมแห่งใหม่มานานกว่า 200 ปี ผ่านการผสมผสานทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย แต่สำนึกและอัตลักษณ์ทางชาติพันธ์ุของพวกเขาก็ยังคงดำรงอยู่และรักษาไว้ได้จนถึงปัจจุบัน ชาวยวนบ้านต้นตาลได้แสดงออกถึงความมีสำนึกทางชาติพันธ์ุของตนผ่านการใช้ชีวิตประจำการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมยวนของเยาวชนยวน การจัดตั้งชมรมไทยยวนสระบุรี การก่อตั้งหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยยวนและการจัดตั้งตลาดท่าน้ำโบราณบ้านต้นตาล ต่อมาเมื่อการท่องเที่ยวได้เข้ามาในชุมชนทำให้ชาวยวนต้องมีการปรับตัวและปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของตนเองเพื่อนำมาเป็นจุดขายในการท่องเที่ยว ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดของพวกเขา โดยพวกเขาได้มีการนำเสนออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ยวนของตนผ่านสถานที่ท่องเที่ยวอันสำคัญของชุมชน 2 แห่ง ได้แก่ หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยยวน และตลาดท่าน้ำโบราณบ้านต้นตาล ซึ่งความเป็นยวนที่ถูกนำเสนอผ่านทั้ง 2 สถานที่นี้ล้วนได้ผ่านขั้นตอนต่างๆ คือ 1. การนิยามความเป็นยวนภายใต้บริบทที่เข้ามาเกี่ยวข้อง 2. การเลือกสัญลักษณ์ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธ์ุยวนหรือความเป็นยวนตามคำนิยามที่กำหนดขึ้น โดยมีวิธีการที่เกี่ยวข้องในการนำสัญลักษณ์ต่างๆที่เลือกไว้มาใช้ คือ การใช้ของเก่า การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ การใช้ของเดิมที่มีอยู่ และการเปลี่ยนแปลง 3. การนำเสนออัตลักษณ์ทางชาติพันธ์ุยวนในบริบทของการท่องเที่ยว และ 4. การนำเสนออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ยวนภายใต้การปฏิสัมพันธ์ในบริบทของการท่องเที่ยว ซึ่งการนำเสนออัตลักษณ์ทางชาติพันธ์ุยวนในบริบทของการท่องเที่ยวนี้จะมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ความเป็นยวนจะมีความชัดเจนมากน้อยเพียงใดจึงขึ้นอยู่กับกลุ่มคนที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์ด้วย การปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางชาติพันธ์ุจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับ


Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Office of Academic Resources, Prince of Songkla University, Pattani Campus