อิทธิพลของสื่อลามกที่มีผลต่อการกระทำผิดทางเพศของเด็กและเยาวชน ศึกษาเฉพาะกรณี: ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ยุพาพร ปิวะพงษ์

Abstract


การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ จำนวน 220 คน ที่ได้รับการฝึกอบรมอยู่ในศูนย์ฝึกฯ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และนำมาวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติการแจกแจงความถี่ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ Multiple Classification Analysis (MCA) โดยเก็บข้อมูลจากปัจจัยภูมิหลัง ปัจจัยทางด้านครอบครัว ปัจจัยทางด้านกลุ่มเพื่อน ปัจจัยทางด้านสื่อลามก ปัจจัยทางด้านการปฎิเสธความรับผิดชอบต่อผู้เสียหาย พฤติกรรมของการเปิดรับสื่อลามกและทัศนะของเด็กและเยาวชนที่มีต่อสื่อลามก ตลอดจนประสบการณ์การกระทำผิด ปรากฏผลการวิจัย ดังนี้

ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ด้านปัจจัยภูมิหลังพบว่า เด็กและเยาวชนที่กระทำผิดเกี่ยวกับเพศมีอายุน้อยที่สุด คือ 15 ปี เคยถูกจับในคดีอาญาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 1 โดยเป็นการกระทำผิดฐานโทรมหญิงและไม่มีการวางแผนล่วงหน้ามาก่อน

ปัจจัยด้านพฤติกรรมของการเปิดรับสื่อลามกและทัศนะของเด็กและเยาวชนที่มีต่อสื่อลามก ส่วนใหญ่เชื่อว่าสื่อลามกมีอิทธิพลต่อการกระทำผิดทางเพศ เพราะเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดทางเพศทั้ง 220 คน เคยรับชมสื่อลามก โดยมีสาเหตุมาจากกลุ่มเพื่อน เฉลี่ยอายุน้อยที่สุดประมาณ 10 ปี ซึ่งในการกระทำความผิดครั้งนี้อยู่ในอาการเมาสุรา/เสพยาเสพติด และในส่วนของทัศนคติของเด็กและเยาวชนที่มีต่อสื่อลามกนั้นจะแบ่งตามพฤติกรรมที่แสดงออกของสื่อในรูปแบบและลักษณะต่างๆ

ประสบการณ์การกระทำผิดมีการจำแนกออกตามฐานความผิดต่างๆ ตลอดจนศึกษาปัจจัยทางด้านครอบครัว ส่วนใหญ่มีความสนิทสนมกันดี ปัจจัยทางด้านกลุ่มเพื่อนพบว่า กลุ่มเพื่อนมีอิทธิพลในการกระทำผิดในการแนะนำ เรียนรู้วิธีการมีเพศสัมพันธ์ ตลอดจนพฤติกรรมรุมโทรมหญิงจากการบอกเล่าของกลุ่มเพื่อน เช่นเดียวกับปัจจัยทางด้านสื่อลามก ซึ่งทั้ง 220 คน ล้วนเคยรับชมสื่อลามกทั้งสิ้น จนนำไปสู่การลอกเลียนแบบพฤติกรรมทางเพศ และเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการกระทำผิดทางเพศ ปัจจุบันสื่อลามกสามารถเข้าถึงได้ง่าย เพราะเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้า ขาดแต่เพียงข้อจำกัดในการรับชม และปัจจัยทางด้านการปฎิเสธความรับผิดชอบต่อผู้เสียหายพบว่า ตัวเหยื่อเองก็เป็นปัจจัยสำคัญ ไม่ว่าจากการที่เหยื่อ/ผู้เสียหายแต่งกายล่อแหลม มีการแสดงกริยารังเกียจในตัวผู้กระทำผิด ตลอดจนการมีความโกรธแค้นไม่พอใจในตัวเหยื่อ/ผู้เสียหาย โดยปัจจัยหล่านี้มีค่าความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

คำสำคัญ : การปฎิเสธความรับผิดชอบต่อผู้เสียหาย, การคบหาสมาคมที่แตกต่าง, ความผูกพันทางสังคม, สื่อลามก, การกระทำผิดเกี่ยวกับเพศ


Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Office of Academic Resources, Prince of Songkla University, Pattani Campus