ความคาดหวังขององค์กรในจังหวัดสงขลาที่มีต่อบทบาทการให้บริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคาดหวังขององค์กรในจังหวัดสงขลา ที่มีต่อบทบาทการให้บริการทางวิชาการ เพื่อศึกษาระดับบทบาทการให้บริการทางวิชาการในปัจจุบัน ด้านการตอบสนองความต้องการของสังคม ด้านการเป็นผู้เตือนสติสังคมและด้านการชี้นำสังคม เพื่อเปรียบเทียบระดับบทบาทในปัจจุบันและระดับความคาดหวังขององค์กรในจังหวัดสงขลา ที่มีต่อบทบาทการให้บริการทางวิชาการตามประเภทขององค์กร และเพื่อศึกษาข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทการให้บริการทางวิชาการ โดยใช้กลุ่มประชากรจากผู้มีอำนาจสูงสุดหรือตัวแทนองค์กรภายในจังหวัดสงขลา จำนวน 494 คน มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 356 คน คิดเป็นร้อยละ 72.06 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป SPSS Version 16 และใช้สถิติพรรณนาในการวิเคราะห์ข้อมูล แสดงค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า t-test และค่าความแปรปรวน
ผลการวิจัยพบว่า องค์กรในจังหวัดสงขลาเห็นว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีบทบาทในการให้บริการทางวิชาการในปัจจุบันทั้งโดยภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับปานกลาง และระดับความคาดหวังต่อบทบาทในการให้บริการทางวิชาการ โดยภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก เมื่อเปรียบเทียบระดับบทบาทของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันและระดับความคาดหวังขององค์กรในจังหวัดสงขลา โดยภาพรวมพบว่า องค์กรในจังหวัดสงขลามีระดับความคาดหวังต่อการให้บริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัยสูงกว่าบทบาทในปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ
เปรียบเทียบบทบาทการให้บริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน จำแนกตามประเภทขององค์กรโดยภาพรวม พบว่า ด้านการตอบสนองต่อความต้องการของสังคม องค์กรในจังหวัดสงขลาที่เห็นว่ามหาวิทยาลัยมีบทบาทในการให้บริการทางวิชาการมากที่สุดคือ หน่วยงานอิสระ รองลงมา คือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานเอกชน ตามลำดับ ส่วนด้านการเตือนสติให้สังคมและด้านการชี้นำสังคม หน่วยงานที่เห็นว่ามหาวิทยาลัยมีบทบาทมากที่สุด คือ หน่วยงานภาครัฐ รองลงมาคือ หน่วยงานอิสระ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชน ตามลำดับ
เปรียบเทียบระดับความคาดหวังขององค์กรในจังหวัดสงขลา ต่อบทบาทการให้บริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำแนกตามประเภทขององค์กรโดยภาพรวม พบว่า องค์กรในจังหวัดสงขลาที่มีความคาดหวังต่อบทบาทการให้บริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัยมากที่สุด คือ หน่วยงานอิสระ รองลงมา คือ หน่วยงานเอกชน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานภาครัฐ ตามลำดับทั้ง 3 ด้าน
คำสำคัญ ความคาดหวัง องค์กร จังหวัดสงขลา บริการทางวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Full Text:
PDFRefbacks
- There are currently no refbacks.
สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Office of Academic Resources, Prince of Songkla University, Pattani Campus